Pages

Sunday, March 11, 2012

โปรแกรมการฝึกซ้อมไม่ควรเป็นสูตรสำเร็จ

โดยทั่วไป เรามักจะเห็นการเขียนโปรแกรมการฝึกซ้อมที่เป็นสูตรสำเร็จ ระบุระยะทางการวิ่งประจำวัน ระบุกิจกรรมที่จะต้องซ้อมเป็นชุดๆ ซึ่งบางท่านเมื่อนำไปใช้ก็อาจจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง การพัฒนาก็จะหยุดชะงัก เวลาในการวิ่งเริ่มคงที่หรือไม่ดีขึ้นและบางท่านเริ่มมีอาการบาดเจ็บเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

โปรแกรมการซ้อมไม่ควรเป็นสูตรสำเร็จ เป็นสิ่งที่ผมยืนยันและมั่นใจในสิ่งที่นำเสนอมาโดยตลอด การเขียนโปรแกรมการฝึกซ้อมควรที่จะต้องผ่านการวิเคราะห์ กลั่นกรองอย่างละเอียด เป็นไปตามลำดับ ขั้นตอนอย่างถูกต้องทั้งหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาและประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการปฏิบัติจริง ประสบการณ์ที่ดีต้องถูกนำมาใช้เพื่อลัดทอนเวลาไม่ใช่ต้องมาเสียเวลามุ่งแต่หาประสบการณ์

โปรแกรมการฝึกซ้อมจะต้องพิจารณาจากตัวนักวิ่งเป็นหลัก และมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพหรือสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ มีเป้าหมายในการพัฒนาและสร้างเสริมในส่วนต่างๆที่ต้องสอดคล้องกันอย่างชัดเจน เช่น การสร้างความอดทน การเพิ่มความทนทาน การฝึกความเร็ว ฯลฯ

ดังนั้น นักวิ่งระยะเดียวกัน ถ้ามีความสมบูรณ์ มีโครงสร้างของร่างกาย คุณสมบัติทางกายภาพที่แตกต่างกัน ภารกิจและการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องวางโปรแกรมการฝึกซ้อมให้เหมาะสมเฉพาะเจาะจง บางคนอาจต้องเพิ่มความเร็ว บางคนก็จำเป็นต้องฝึกให้มีความอดทนหรือเพิ่มความทนทาน บางคนอาจจำเป็นต้องวางฐานการฝึกซ้อมใหม่ตั้งแต่การจัดระบบท่าทางการวิ่ง เพื่อไปผสมผสานกับสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณครับ
สถาวร จันทร์ผ่องศรี
11 ธันวาคม 2554